นิสสันได้พัฒนาเซฟิโร่รุ่นแรก โดยใช้แชสซีขับเคลื่อนล้อหลัง ร่วมกับรถรุ่นดังของนิสสัน นั่นคือ Skyline (สกายไลน์) และร่วมกับ Laurel (ลอเรล) โดยแบ่งระดับการทำตลาดเป็น Skyline แบบสปอร์ตซีดาน ส่วน Laurel แบบซีดานที่หรูหรา และ Cefiro เน้นดีไซน์สวยกับไฮเทค ยืนยันได้จากไฟหน้าโปรเจ็กเตอร์ล้ำสมัยในสมัยนั้น สไตล์ลิ่มเน้นแอโร่ไดนามิคที่ลู่ลม แม้แต่มือเปิดประตูยังเป็นทรงเม็ดข้าวเรียวบาง ที่ยังดูไม่ล้าสมัยจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าจะเปิดตัวในปี 1988 ก็ตาม
Nissan Cefiro มีมิติตัวถัง ความยาว 4,690 ความกว้าง 1,695 ความสูง 1,375 และฐานล้อ 2,670 มม. ในช่วงแรกของการทำตลาดปั 1990-1993 มีเครื่องยนต์ RB20E แบบเบนซิน 6 สูบเรียง 12 วาล์ว ความจุ 2.0 ลิตร กำลัง 121 แรงม้า และแรงบิด 172 นิวตันเมตรต่อมาในปี 1993-1996 ได้ไมเนอร์เชนจ์ใหม่ เปลี่ยนหน้าตาเล็กน้อย เปลี่ยนเครื่องยนต์เป็น RB20DE แบบเบนซิน 6 สูบเรียง 12 วาล์ว ความจุ 2.0 ลิตร กำลัง 152 แรงม้า และแรงบิด 181 นิวตันเมตร ใช้เกียร์อัตโนมัติ 5 สปีด หรือมีเกียร์ธรรมดา 5 สปีดให้เลือก
ออพชั่นล้ำนิสสัน เซฟิโร่ ใส่ออพชั่นต่าง ๆ ให้สมกับการตั้งใจเป็นรถไฮเทค ด้วยระบบเบรคที่เป็นดิส 4 ล้อ แถมรุ่น 24 วาล์วใส่ระบบ ABS มาด้วย มีกระจกมองข้างปรับไฟฟ้า และพับด้วยไฟฟ้า เซ็นทรัลล็อคทำงานได้เองเมื่อรถเคลื่อนที่ในความเร็วต่ำ มีเซนเซอร์เปิดไฟหน้าอัตโนมัติ สาบานได้ว่านี่คือรถยนต์เมื่อ 30 ปีที่แล้ว
ช่วงล่างปรับไฟฟ้า
ทางด้านช่วงล่างก็ใช้ระบบ DUET-SS มีโซนาร์ยิ่งคลื่นสะท้อนถนนกลับมา เพื่อวิเคราะห์สภาพถนน พร้อมสั่งการให้มอเตอร์ไฟฟ้าบนหัวโช้ค หมุนปรับวาล์วน้ำมันในโช้คอัพ เพื่อให้ความหนืดมาก-น้อยตลอดเวลา หรือจะกดเลือกโหมดสปอร์ตหรือนุ่มได้ด้วยตัวเอง ซึ่งระบบนี้ยังไม่มีในรถญี่ปุ่นระดับเดียวกันด้วยซ้ำ สมชื่อสโลแกน “ลีลาแห่งอนาคต”
ข้อเสียก็เพียบ
Nissan Cefiro มีข้อเสียตรงความล้ำหน้าเช่นกัน เพราะระบบช่วงล่าง DUET-SS ไม่สามารถรองรับปริมาณหลุมบ่อในประเทศไทยไหว จึงพังง่ายก่อนเวลาอันควร แถมค่าอะไหลแพง หลายคันจึงใส่โช้คอัพแบบธรรมดาไปแล้ว
ส่วนข้อเสียด้านอื่น ๆ ก็คือ หลังคาผุ เบาะหลังแคบ คนสูงเกิน 180 หัวติดหลังคาแน่นอน อีกทั้งยังมีเรื่องการกินน้ำมันที่มาก ระดับ 7-8 กม./ลิตรโดยประมาณ
ขายดีในไทย แต่ขายไม่ออกที่เมืองนอก
Nissan Cefiro เปิดตัวในไทยด้วยราคา 830,000 บาท ส่วนรุ่นไมเนอร์เชนจ์ราคาทะลุไป 1 ล้านบาทเศษ ซึ่งแพงกว่าใครในระดับเดียวกัน ณ ตอนนั้น แต่ก็ยังมียอดขายดี จนรอคิวจองนานหลายเดือน ในขณะที่ต่างประเทศ ทำยอดขายเชื่องช้า อาจเป็นเพราะมันแปลกใหม่เกินไป และไม่สามารถพูดได้ว่าประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์ และยอดขายนี่เอง เป็นตัวกำหนด ชะตากรรมเซฟิโร รวมถึงเทียน่ายุคต่อมา
Cefiro รุ่นที่ 2 ไม่ได้พัฒนาจากสกายไลน์อีกต่อไป แต่หันไปรวมโมเดลกับอเมริกาเหนือ ใช้ชื่อว่า Maxima กลายเป็นซีดานขนาดใหญ่แบบขับเคลื่อนล้อหน้า FF เน้นรูปแบบหรูหรา โอ่โถง ที่ตอบสนองความต้องการของชาวอเมริกาเหนือ ตามด้วยรุ่นที่ 3 Cefiro ไฟหน้าหยัก ยังอิงอเมริกาในชื่อแมกซิม่า ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีในอเมริกาเหนือ
แต่ในเอเชียรวมถึงประเทศไทย ยังใช้ชื่อ Cefiro แต่ได้ลดความนิยมไม่เท่าเซฟิโร่แรก เพราะความหรูหราทำให้มันไม่ต่างจากคู่แข่ง ที่ค่ายอื่น ๆ พัฒนาจนทัดเทียมและแซงหน้าไปได้ เช่น Honda Accord ที่มีเครื่องแรงกว่า หรือ Toyota Camry ที่มีระบบความปลอดภัยครบกว่า แม้ว่าจะปรับลุคกลายเป็น Teana ก็ไม่ได้ทุ่มเทด้านความไฮเทคหรือโฉบเฉี่ยวแปลกตาเหมือนที่ Cefiro A31 เคยทำได้อีกต่อไปNissan เคยสร้างความประหลาดใจให้กับโลก ด้วยแนวคิดรถยนต์ที่สร้างสรรค์ ในยุค 90 มีรถยนต์ที่น่าจดจำมากมาย และถึงแม้จะหายไป แต่ชื่อเสียงของตำนาน นิสสัน เซฟิโร่ ยังอยู่ในสภาพมือสอง ที่รอการบูรณะในราคา 50,000 - 150,000 แล้วแต่สภาพ ซึ่งควรดูคันที่สภาพตัวถังสวย ไม่ถูกดัดแปลงเป็นรถซิ่ง เครื่องสภาพเดิมที่สุดเท่าที่จะหาได้
ปัจจุบันนี้ Nissan Cefiro A31 ที่เคยวิ่งเกลื่อนถนนในอดีต จะกลายเป็นรถหายาก เพราะสภาพรถไม่ทนกาลเวลา ผุพังไปเยอะ บางคันถูกทำเป็นรถซิ่งจนกลายเป็นซาก ทำให้ตอนนี้รถสภาพเดิม ๆ เริ่มมีคนตามหาเก็บเรื่อย ๆ หากมีเวลาและทุนทรัพย์ ก็ขอแนะนำให้มีติดโรงรถไว้ เป็นเครื่องระลึกถึงความยิ่งใหญ่ที่นิสสันเคยทำได้ และนิสสันจะไม่มีวันทำได้แบบนั้นอีก เพราะปัจจุบันหันไปใส่ใจกับเอสยูวีและรถขนาดเล็กแทน พร้อมหยุดการขายรถซีดานขนาดใหญ่ในประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว